วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิธีการทางประวัติศาสตร์

การศึกษาประวัติศาสตร์ มีปัญหาที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ อดีตที่มีการฟื้นหรือจำลองขึ้นมาใหม่นั้น มีความถูกต้องสมบูรณ์และเชื่อถือได้เพียงใด รวมทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่นำมาใช้ เป็นข้อมูลนั้น มีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด เพราะเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มีอยู่มากมายเกินกว่าที่จะศึกษาหรือจดจำได้หมด แต่หลักฐานที่ใช้เป็นข้อมูลอาจมีเพียงบางส่วน

ดังนั้น วิธีการทางประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ หรือผู้ที่จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะได้นำไปใช้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ลำเอียง และเกิดความน่าเชื่อถือได้มากที่สุด
ในการสืบค้น ค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มีอยู่หลายวิธี เช่น จากหลักฐานทางวัตถุที่ขุดค้นพบ หลักฐานที่เป็นการบันทึกลายลักษณ์อักษร หลักฐานจากคำบอกเล่า ซึ่งการรวบรวมเรื่องราวต่างๆทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ เรียกว่า
วิธีการทางประวัติศาสตร์

วิธีการทางประวัติศาสตร์ คือ การรวบรวม พิจารณาไตร่ตรอง วิเคราะห์และตีความจากหลักฐานแล้วนำมาเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ เพื่ออธิบายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในอดีต ว่าเหตุใดจึงเกิดขึ้น หรือเหตุการณ์ในอดีตนั้นได้เกิดและคลี่คลายอย่างไร ซึ่งเป็นความมุ่งหมายที่สำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์

ประเภทหลักฐานประวัติศาสตร์
1. หลักฐานที่จำแนกตามความสำคัญ
1.1 หลักฐานชั้นต้น primary sources หมายถึง คำบอกเล่าหรือบันทึกของผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง ได้แก่ บันทึกการเดินทาง จดหมายเหตุ จารึก รวมถึงสิ่งก่อสร้าง หลักฐานทางโบราณคดี โบราณสถาน โบราณวัตถุ เช่น โบสถ์ เจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป รูปปั้น หม้อ ไห ฯลฯ
1.2 หลักฐานชั้นรอง secondary sources หมายถึง ผลงานที่เขียนขึ้น หรือเรียบเรียงขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นแล้ว โดยอาศัยคำบอกเล่า หรือจากหลักฐานชั้นต้นต่างๆ ได้แก่ ตำนาน วิทยานิพนธ์ เป็นต้น

2. หลักฐานที่ใช้อักษรเป็นตัวกำหนด
2.1 หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร หมายถึง หลักฐานที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้แก่ ศิลาจารึก พงศาวดาร ใบลาน จดหมายเหตุ วรรณกรรม ชีวประวัติ หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร รวมถึงการบันทึกไว้ตามสิ่งก่อสร้าง โบราณสถาน โบราณวัตถุ แผนที่ หลักฐานประเภทนี้จัดว่าเป็นหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์
2.2 หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งหมดที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ สิ่งก่อสร้าง โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปการแสดง คำบอกเล่า นาฏศิลป์ ตนตรี จิตรกรรม ฯลฯ

3. หลักที่กำหนดตามจุดหมายของการผลิต
3.1 หลักฐานที่มนุษย์ตั้งใจสร้างขึ้น artiface คือ หลักฐานที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต
3.2 หลักฐานที่มิได้เป็นผลผลิตที่มนุษย์สร้างหรือตั้งใจสร้าง


ขั้นตอนของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย
1. การกำหนดหัวข้อเรื่องที่ต้องการศึกษาให้ชัดเจน (เรื่องอะไร ช่วงเวลาใด ที่ไหน)
2. รวบรวมข้อมูลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ครบถ้วน ครอบคลุม
3. ตรวจสอบความจริงจากหลักฐาน ที่เรียกว่า การวิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์
4. วิเคราะห์ข้อมูลและตีความเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง
5. นำเสนอผลงานความรู้ที่ค้นพบ โดยปราศจากอคติและความลำเอียง


วิธีการทางประวัติศาสตร์ กับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มีบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน และมีบทส่วนแตกต่างกันดังนี้
1. วิธีการทางประวัติศาสตร์มีการกำหนดประเด็นปัญหา เพื่อสืบค้นหาคำตอบ เช่นเดียวกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการสร้างสมมติฐานขึ้นแล้วทดลองเพื่อตรวจสอบสมมติฐานนั้น
2. วิธีการทางวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการสร้างสถานการณ์ใหม่ หรือ ทดลองเพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งขึ้น แต่นักประวัติศาสตร์ไม่สามารถสร้างสถานการณ์ขึ้นใหม่ให้เหมือนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีตได้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตจะเกิดขึ้นครั้งเดียว มีลักษณะเฉพาะ และไม่สามารถสร้างซ้ำได้อีก แต่นักประวัติศาสตร์จะรวบรวมข้อมูลจากหลักฐานอย่างหลากหลาย ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของหลักฐาน จนกระทั่งได้ข้อมูลที่จะสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถอธิบายและสรุปเป็นหลักการได้ ดังนั้นแม้นักประวัติศาสตร์จะมิได้เห็นเหตุการณ์นั้นโดยตรง แต่พยายามหาข้อมูลให้มาก เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงให้ถูกต้องตามความเป็นจริงที่น่าเป็นไปได้ แต่นักวิทยาศาสตร์จะทดสอบหรือทดลองให้ได้ผลสรุปด้วยตนเอง
3. การนำเสนอผลงานของนักวิทยาศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ก็อาศัยหลักการความเป็นไปได้มาคาดคะเน และสรุปผลเช่นกัน แต่ผลสรุปทางวิทยาศาสตร์ จะสามารถนำไปทดลองซ้ำๆ ก็จะได้ผลเช่นนั้นทุกครั้ง แต่ผลสรุปทางประวัติศาสตร์ไม่สามารถนำไปทดลองได้ และมีความแตกต่างที่เป็น “มิติของเวลา” เช่นเดียวกับศาสตร์ทางสังคมศาสตร์อื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมปัจจัยที่เป็นตัวแปรได้ทั้งหมด
4. ประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ไม่สามารถนิยามคำเฉพาะ เพราะความหมายจะไม่ชัดเจนตายตัวในทุกกาลและเทศะ เช่น ประชาธิปไตยของท้องถิ่นหนึ่ง กับอีกท้องถิ่นหนึ่งจะมีนัยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้ใช้หรือผู้นิยาม ซึ่งแตกต่างกับวิทยาศาสตร์ที่สามารถให้นิยามคำเฉพาะที่มีความหมายตายตัวไม่เปลี่ยนแปลงตามเวลา และสถานที่


คุณค่าของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ได้แก่
1. วิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นวิธีการวิจัยเอกสารและหลักฐานอื่นๆ ที่เป็นร่องรอยจากอดีตอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมาอย่างเป็นระบบ และมีเหตุมีผล
2. ขั้นตอนการวิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์หรือการตรวจสอบความจริงจากข้อมูลและหลักฐาน ซึ่งเป็นขั้นตอนของการค้นหาความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ในหลักฐานจะทำให้ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ระมัดระวัง และคิดพิจารณาข้อเท็จ และข้อจริงที่แฝงอยู่ในหลักฐานให้ชัดเจน
3. วิธีการทางประวัติศาสตร์เน้นการเข้าใจอดีต คือ การให้ผู้ศึกษาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ต้องทำความเข้าใจยุคสมัยที่ตนศึกษา เพื่อให้เข้าถึงความคิดของผู้คนในยุคนั้น โดยไม่นำความคิดของปัจจุบันไปตัดสินอดีต
อย่างไรก็ตาม เมื่อประวัติศาสตร์คือการสืบค้นอดีตของสังคมมนุษย์ วิธีการทางประวัติศาสตร์ซึ่ง เป็นวิธีการในการสืบสวนและค้นคว้า จึงนับเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบหนึ่งที่มีเหตุผลประกอบผลสรุปนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น